ในหลวงทรงดนตรี

ในหลวงทรงดนตรี


          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นนักดนตรีที่มีพระปรีชาสามารถสูงพระองค์หนึ่ง และได้ทรงใช้พระปรีชาสามารถนี้ให้เป็นประโยชน์ต่อการสร้างสัมพันธภาพอันดีให้เกิดขึ้นในมวลมนุษยชาติ
          วันทรงดนตรี เป็นหนึ่งในตัวอย่างของการที่ทรงนำพระอัจฉริยภาพด้านดนตรีมาใช้เป็นสื่อกลางในการสร้างความสมานฉันท์ โดยได้เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ ไปทรงดนตรียังมหาวิทยาลัยต่างๆ เป็นประจำทุกปี
          สำหรับในระดับชาตินั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประสบความสำเร็จในการใช้ดนตรีเป็นภาษาสากลสร้างมิตรภาพระหว่างประเทศได้อย่างงดงาม
           ดังเมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกา ในปี 2503 ระหว่างงานถวายเลี้ยงพระกระยาหารค่ำที่วอชิงตันเพลส ทรงได้รับการกราบบังคมทูลเชิญให้ร่วมบรรเลงดนตรีกับวงดนตรีที่จัดแสดงถวายหน้าพระที่นั่ง โดยไม่ได้ทรงเตรียมพระองค์มาก่อน สร้างความประทับใจแก่ผู้ร่วมงานในวันนั้นอย่างยิ่ง และยังได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงดนตรีร่วมกับวงดนตรีของนายเบนนี่ กู๊ดแมน นักดนตรีแจ๊สระดับโลก ที่มหานครนิวยอร์ค ซึ่งทรงสามารถบรรเลงโต้ตอบได้อย่างครื้นเครง จนได้รับการถวายคำยกย่องในฐานะทรงเป็นนักดนตรีแจ๊สที่มีอัจฉริยภาพสูง




พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงศึกษาดนตรี เป็นบทความที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระนิพนธ์ไว้เมื่อ พ . ศ . ๒๕๓๐ เนื่องในวโรกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระชนมายุครบ ๖๐ พรรษา และมีผู้ขอพระราชทานไปพิมพ์เผยแพร่ในสิ่งพิมพ์ต่างๆหลายครั้ง รวมทั้งในหนังสือ ธ สถิตในดวงใจนิรันดร์ เมื่อ พ . ศ . ๒๕๓๙


พระนิพนธ์

ข้าพเจ้าเพิ่งไปชมนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่กรมศิลปากรจัดขึ้นที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ส่วนที่เกี่ยวกับการดนตรีมีภาพถ่ายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงดนตรี โน้ตเพลงพระราชนิพนธ์ เครื่องดนตรีส่วนพระองค์หลายชนิด โน้ตเพลงและเครื่องดนตรีบางส่วนที่มิได้แสดงไว้ที่ศูนย์วัฒนธรรม ผู้ที่สนใจอาจจะไปชมได้ที่หอรัชมงคล สวนหลวง ร . ๙

ผู้ที่สนใจในด้านดนตรีเคยมาไต่ถามข้าพเจ้าว่า ทราบบ้างไหมว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเรียนดนตรีมาอย่างไร ซึ่งก็ตอบลำบาก เพราะเป็นเรื่องก่อนเกิดที่ไม่ได้เห็นด้วยตนเอง ทราบบ้างตามที่ทรงเล่า จึงได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเล่าให้ผู้อื่นฟังถึงวิธีการเรียน เผื่อจะเป็นคติที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น ก็ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาต

เมื่อทรงศึกษาอยู่ในโรงเรียนทั้งในประเทศไทยและประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ก็ได้ทรงเรียนขับร้อง แต่ไม่ได้เรียนโน้ต เมื่อพระชนมายุได้ ๑๓ ปี ได้ทรงเรียนแอคคอร์เดียนได้ไม่มากนัก เพราะไม่สนพระทัย ( ทรงเรียกว่าไม่ติด )

สมเด็จพระพี่นางฯ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลทรงเรียนเปียโน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงเรียน แต่เมื่อมีพระชนม์ได้ประมาณ ๑๔ - ๑๕ ปี ได้เสด็จพระราชดำเนินไปที่ภูเขา ได้ทอดพระเนตรวงดนตรีที่เขาเล่นที่โรงแรมก็โปรด มีพระราชประสงค์จะทรงแตร แต่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีไม่ทรงเห็นด้วย เพราะเหตุว่าการเป่าแตรต้องใช้กำลังมาก อาจเป็นอันตรายแก่สุขภาพได้ จึงทรงผ่อนผันให้เล่นแซกโซโฟนแทน

ครูสอนดนตรีชื่อ นายเวย์เบรชท์ (Weybrecht) เป็นชาวอัลซาส (Alsace) ซึ่งเป็นแคว้นของฝรั่งเศสที่พูดภาษาเยอรมัน เวลาพูดภาษาฝรั่งเศสยังมีสำเนียงเยอรมันติดมาบ้าง นายเวย์เบรชท์ทำงานอยู่ร้านขายเครื่องดนตรี ( ขายทุกๆ ยี่ห้อ ) และยังเป็นนักเป่าแซกโซโฟนอยู่ในวงของสถานีวิทยุ เขาเล่นดนตรีได้หลายอย่างรวมทั้งคลาริเนตด้วย แซกโซโฟนที่ทรงเล่นตอนนั้นเป็นของเก่า ( เก่าแปลว่าใช้แล้ว ไม่ใช่ของโบราณ ) ราคา ๓๐๐ ฟรังค์สวิส " รัฐบาล " คือสมเด็จพระศรีฯ พระราชทานเงินสนับสนุน ๑๕๐ ฟรังค์ ส่วนอีก ๑๕๐ ฟรังค์เอาเงินสโมสรออก ( เป็นเงินที่พระเจ้าอยู่หัว ๒ พระองค์ทรงเข้าหุ้นกัน )

เมื่อครูมาตอนแรกๆ พระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลไม่ทรงเรียน อยู่มาวันหนึ่งไปทรงซื้อคลาริเนตมา ขอเรียนด้วย ครูเวย์เบรชท์มาสอนสัปดาห์ละ ๒ ครั้ง ครั้งละครึ่งชั่วโมงต่อพระองค์ ( เรียนทีละพระองค์ เพราะเรียนคนละอย่าง ) เรียนไปได้สักปีหนึ่งก็เปลี่ยนเป็นเรียนสัปดาห์ละครั้งเดียว เมื่อพอจะเล่นได้ครูก็เขียนโน้ตเพลงให้เล่นได้ ๓ คน เป็น Trio มีคลาริเนต ๑ แซกโซโฟน ๒ เพลงที่เล่นเป็นพวกเพลงคลาสสิก ตอนเล่นเพลงด้วยกันนี้เล่นฟรีครูไม่คิดค่าสอน แม้แต่ค่าสอนก็คิดไม่แพง คือครั้งละ ๓ ฟรังค์ ถ้าไปโรงเรียนดนตรีจริงๆ เขาจะเรียก ๕ ฟรังค์ ครูคนนี้มาสอนให้ถึงบ้านด้วยนอกจากการเล่นเครื่องดนตรีแล้ว ครูยังสอนวิชาการดนตรีให้ด้วย รวมทั้งการเขียนโน้ต สเกลต่างๆ




คลาริเนตนั้นทรงเอาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลมาทรงเป่า ครูเวย์เบรชท์แนะนำ ๒ - ๓ ครั้ง สำหรับแตรนั้น สนพระทัยจึงไปเช่ามาเล่น เขาให้เช่าทีละเดือน ครั้งแรกที่เช่ามาเป็นแตรคอร์เนต อีกหลายปีจึงทรงซื้อเอง ดูเหมือนว่าแตรทรัมเปตเครื่องแรกที่ทรงซื้อจะเป็นแตรยี่ห้อเซลเมอร์ สั่งซื้อจากอังกฤษ แต่เป็นของฝรั่งเศส ( เครื่องนี้พระราชทานวงสุนทราภรณ์ไป ) ภายหลัง ( สัก ๓๐ กว่าปีมาแล้ว ข้าพเจ้ายังไม่เกิด ) จึงซื้อใหม่ยี่ห้อเซลเมอร์เหมือนกัน ครูเวย์เบรชท์บอกว่าแตรดีที่สุดคือ ยี่ห้อกูร์ตัว แต่ไม่ได้ทรงซื้อ เพิ่งซื้อเมื่อปีที่แล้วนี่เอง ( พ . ศ . ๒๕๒๙ ) คลาริเนตที่ทรงใช้แต่แรกยี่ห้อเลอบลองค์ แซกโซโฟนยี่ห้อ เอส เอ็ม แอล (Strasser Marigaux Lemaire)

สำหรับเครื่องดนตรีต่างๆ ที่ทรงเล่นมี เปียโน ไม่เคยทรงเรียนจริงจังจากใคร เล่นเอาเองดูโน้ต เรียนวิธีประสานเสียง

 

กีตาร์ ทรงเล่นเมื่อพระชนม์ราว ๑๖ พรรษา เพื่อนที่โรงเรียนเป็นรุ่นที่อายุมากกว่าให้ยืมเล่น ภายหลังเอาไปคืน เขาเห็นว่าสนใจจึงให้เลย

ขลุ่ย ทรงเมื่อพระชนม์ประมาณ ๑๖ - ๑๗ พรรษา เห็นว่าราคาไม่แพงนัก เล่นไม่ยากนิ้วคล้ายๆ แซกโซโฟน




คุณพระเจนดุริยางค์เป็น อีกท่านที่กราบบังคมทูลแนะนำเกี่ยวกับการดนตรี โปรดคุณพระเจนฯ มาก ทรงพิมพ์ตำราที่คุณพระเจนฯ ประพันธ์ขึ้นทุกเล่ม ระหว่างการพิมพ์และตรวจปรู๊ฟได้ความรู้เกี่ยวกับดนตรีมาก ส่วนไหนที่ไม่เข้าพระทัยก็มีรับสั่งถามคุณพระเจนฯ เรื่องการพิมพ์หนังสือนี้ คุณแก้วขวัญ วัชโรทัย เลขาธิการพระราชวังคน ปัจจุบันทราบดี เพราะเป็นผู้ที่ทรงมอบหมายให้ดำเนินการ ได้ทราบว่าคุณพระเจนฯเองก็ปรารภว่าในด้านทฤษฎีไม่ทรงทราบมากนัก แต่ทำไมเคาะเสียงถูกต้องทุกที รับสั่งเล่าว่า คุณพระเจนฯ เป็นคนถือธรรมเนียมว่า สอนพระเจ้าแผ่นดินไม่ได้ แต่จะแนะนำถวายหรือกราบบังคมทูล

สมัยทรงพระเยาว์บางทีทรงซื้อแผ่นเสียงมาฟัง ถ้าเป็นแผ่นเสียงเพลงคลาสสิก "รัฐบาล" ให้ ถ้าเป็นเพลงแจ๊สต้องออกเอง

ทรงเล่นแตรอยู่พักหนึ่งเกิดปวดพระศอเล่นไม่ได้ เลิกไปนาน ภายหลังจึงลองเป่าอีก ปรากฏว่าทรงพระสำราญดี ตอนหลังเคยเห็นทรงไวโอลินด้วย คิดว่าทรงเล่นเอาเองไม่มีครูสอน

นอกจากทรงเล่นดนตรีแล้วยังทรงสอนให้ผู้อื่นเล่นด้วย เคยเล่าพระราชทานว่าได้สอนคนตาบอดเล่นดนตรี สอนลำบากเพราะเขาไม่เห็นท่าทาง เมื่อพยายามอธิบายจนเข้าใจสามารถเป่าออกมาเป็นเพลงไพเราะได้ หรือแม้แต่โน้ตเดียวในตอนแรก ดูสีหน้าเขาแสดงความพอใจและภูมิใจมาก

ทรงแนะนำวิธีการเล่นดนตรีพระราชทานผู้อื่นที่มาเล่นดนตรีถวายหรือเล่น ร่วมวง ดูเหมือนจะเคยมีรับสั่งว่าการเล่นดนตรีทำให้เกิดความสามัคคี ว่าเป็นนักดนตรีเหมือนกัน

เมื่อประมาณเกือบ ๒ ปีมาแล้ว ที่สกลนครทรงนำแตรไปด้วย และได้มีพระราชกระแสเกี่ยวกับเรื่องแตรกับคุณหมอทวีศักดิ์ ซึ่งเล่นแตรในวง อ . ส . เคยเรียนแตรมาหลายปีแล้ว ข้าพเจ้านั่งอยู่ตรงนั้นพร้อมกับคนอื่นๆ อีกหลายคน คิดอยู่ว่าน่าจะเรียนบ้าง เพราะตอนนี้ฟังท่านคุยกันไม่รู้เรื่อง ต่อมาแปรพระราชฐานไปที่จังหวัดนราธิวาส ข้าพเจ้าพยายามไปฟังพระราชกระแสเรื่องแตรนี้อีก คงจะทรงเห็นข้าพเจ้าดูอย่างสนใจ จึงยื่นแตรพระราชทานและสั่งให้ไปยืนเป่าอยู่ไกลๆ เป่าเท่าไรเสียงก็ไม่ออก จนในที่สุดเสียงออกมาดัง " ปู่ " เป็นเสียงต่ำมาก ทรงพระสรวล มีรับสั่งว่าเสียงแบบนี้ไม่มีใครเขาเป่ากัน

เมื่อกลับกรุงเทพฯ แล้วข้าพเจ้าให้คนไปซื้อแตรทำในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนมา ( ข้าพเจ้าชอบแตรขึ้นมาก เพราะซื้อด้วยน้ำพักน้ำแรงของตนเอง ) ราคา ๓ , ๐๐๐ บาท ไปแนะนำให้คนอื่นๆ ที่ตามเสด็จซื้อแตรชนิดต่างๆ มา ส่วนมากจะซื้อยี่ห้อเดียวกับข้าพเจ้า แต่ผู้ซื้อทีหลังกลับได้ราคาต่ำกว่า เมื่อทรงเห็นมีเครื่องดนตรีกัน จึงทรงนึกสนุกสอนให้พวกเราเป่าแตรกัน เริ่มด้วยข้าพเจ้าเป็นนักเรียนหมายเลข ๑ เป็นหัวหน้าชั้น ที่จริงข้าพเจ้าอยากเรียนคลาริเนต เพราะได้เห็นการเดี่ยวคลาริเนตเพลงไทย ไพเราะมาก แต่มีรับสั่งให้เรียนแตรไปก่อนเพราะเสียงดังดี ( วงของเราเป็น Brass Band) และการดูแลรักษาแตรง่ายกว่าคลาริเนต ภายหลังเมื่อเป่าแตรพอได้แล้ว จึงมีรับสั่งว่าถ้าอยากเล่นคลาริเนตเมื่อไรให้ทูลขอ ไม่ต้องไปซื้อ แต่ข้าพเจ้าก็ยังไม่อยากเป่าเห็นว่ายังเป่าแตรไม่เก่ง

ทรงสอนตั้งแต่เรื่องส่วนต่างๆ ของแตร กำพวด (mouth piece) ต่างกันเสียงก็ต่างกัน เป่าได้ยากง่ายต่างกัน เริ่มต้นเป่าเสียงต่างๆ ทีละเสียง เริ่มแต่เสียงที่ไม่ใช้นิ้วกด ต้องหัดทำปากให้แข็งๆ ( ทำยากมาก ) เป่าให้สูงขึ้นทุกทีๆ เช่น โด ซอล โด มี ภายหลังจึงเรียนเสียงอื่นที่ต้องใช้นิ้วเรียนเสกล บางทีก็ทรงให้หมอทวีศักดิ์สอน เมื่อเล่นเสียงต่างๆ พอจะได้ก็ให้เล่นเพลงง่ายๆ เช่น เพลง Three Blind Mice, Old Folk at Home, Home Sweet Home เวลาเล่นข้าพเจ้ามักขี้โกง ใช้จำเอาแทนที่จะดูโน้ต ทรงบังคับให้ดูโน้ตไปพลางจนอ่านโน้ตออก จากเพลงพื้นฐานก็ทรงเขียนแบบฝึกหัดให้หัดเป่า และโน้ตเพลงต่างๆ ให้เล่นประสานเสียงกัน บางทีพวกเราก็ไปหาเพลงจากข้างนอก ( เรียกว่าเพลงนอกหลักสูตร ) มาเล่น เช่น เพลงไทย อย่าง คลื่นกระทบฝั่ง ลาวดวงเดือน ลาวดำเนินทราย ลาวคำหอม นกขมิ้น มาเล่น

ภายหลังทรงมีวิธีหัดให้เป่าเสียงยาวๆ และแม่นยำ โดยการให้เป่าแตรแบบทหาร เช่น แตรนอน ขณะนี้แทนที่จะเป่าคนเดียวทั้งหมด ต้องเล่นคนละโน้ตแบบเล่นอังกะลุง เป็นการฝึกหัดปาก ( เพราะเป็นเพลงที่ไม่ใช้นิ้วเลย ) แตรกินข้าวถูกให้เป่าทีละคน แตรเคารพ เสียงสุดท้ายต้องเป่าให้ยาวจนหมดลม การฝึกที่หนักที่สุดคือการเดินแถวแล้วเป่าไปพลาง เมื่อโดนเข้าด้วยตนเองทำให้เห็นใจทหารที่ต้องเป่าเป็นชั่วโมงๆ ในวันสวนสนาม

บางเพลงที่ทรงเขียนโน้ตพระราชทานมีบทที่ต้องเล่นเดี่ยว (Solo) ส่วนมากจะทรงเอง ให้พวกเราเล่นเสียงประสานให้ถูกต้อง บางทีเคยให้เราเล่นบท Solo เหมือนกัน ( แต่เขียนบทพระราชทาน ) มีรับสั่งว่าการสอนดนตรีนี่เองที่ทำให้สนพระทัยคอมพิวเตอร์ ทรงหาโปรแกรมที่เขียนโน้ตได้ ได้ทรงเขียนโน้ตบางเพลงด้วยคอมพิวเตอร์ พระราชทานแจกให้เล่น และได้ทรงพระราชนิพนธ์เพลงด้วยคอมพิวเตอร์ แต่ยังไม่เป็นที่พอพระราชหฤทัยจึงยังไม่ออกเผยแพร่






ทรงทราบวิธีการซ่อมแตรเป็นอย่างดี โดยทรงทราบจากพระเจนดุริยางค์ จากร้านซ่อม - ขายเครื่องดนตรีที่ทรงรู้จัก และจากการสังเกต ทรงรู้จักลักษณะพิเศษของแตรทุกยี่ห้อ ข้าพเจ้าไปอินเดียก็ซื้อแตรทำในอินเดียมาถวาย น้องข้าพเจ้าไปเกาหลีก็ซื้อแตรเกาหลีมาถวาย ทรงสอนให้ช่างซึ่งไม่เคยทราบเรื่องแตรเลยซ่อมแตรได้

ในโอกาสสำคัญๆ เช่น วันเฉลิมพระชนมพรรษาพวกเราวงดนตรีที่ได้รับพระราชทานชื่อว่า "วงสหายพัฒนา" ได้เล่นเพลงถวาย ใช้เพลงสดุดีมหาราชา เพลงทรงพระเจริญ และเพลงอื่นๆ ถือเป็นการแสดงความจงรักภักดีและแสดงความกตัญญูแก่ผู้เป็น "ครู" ตามประเพณีของไทยด้วย




ในหลวงทรงมีคุณูปการหลายอย่างต่อวงการดนตรีไทย ตัวพระองค์เองทรงปี่ใน แล้วท่านก็ปลูกฝังให้พระราชโอรส พระราชธิดาชอบดนตรี ทรงดนตรีด้วย อย่างพระบรมฯ นี่ทรงซอ เวลาท่านออกกำลังกายก็จะให้มีวงดนตรีมาบรรเลงให้ฟัง ดนตรีไทยนะ ทูลกระหม่อมหญิงพระองค์ใหญ่นี่ท่านชอบดนตรีมาก ทรงดนตรีและขับร้องได้ดีมาก ส่วนสมเด็จพระเทพฯ เดิมท่านทรงซอ แล้วตอนท้ายก็มาทรงระนาด ขับร้องนี่เป็นมาตั้งแต่ต้นเลย สมเด็จพระเทพฯ เคยรับสั่งกับผมว่า สมัยก่อนพระเจ้าอยู่หัวจะปลุกให้ตื่นมาไล่ระนาด ฝึกซ้อมระนาดตั้งแต่ตีห้า เช้ามืด คือไม่ถึงกับให้เก่ง แต่ให้รู้ว่าชีวิตนักระนาดเป็นอย่างนี้ ส่วนพระเจ้าหลานเธออย่างพระองค์ภา พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีฯ ก็ทรงดนตรีไทยทั้งนั้น

เคยได้ทราบเรื่องที่มีพระราชดำรัสกับครูเอื้อ สุนทรสนานไหม อ่านได้จากหนังสือของครูเอื้อ ท่านรับสั่งว่า เสียงดนตรีไทยไม่เหมือนดนตรีของที่ไหนในโลก เป็นชาติเดียวที่มีเสียงเต็มๆ เจ็ดเสียง ไม่มีครึ่งเสียง ไม่มีแฟลต ไม่มีชาร์ป โดยธรรมชาติดนตรีนี่ ครึ่งเสียงเขาเรียกว่าความเสนาะ ความไพเราะ มันทำได้อยู่แล้วแหละ  ของดนตรีไทยในเชิงปฏิบัติมันก็มี เรียกเสียงเครือบ้าง เสียงครั่นบ้าง ทำแล้วมันเกิดความไพเราะ เป็นลีลาในทางปฏิบัติ แต่ทางทฤษฎีดนตรีไทยไม่มี อย่างการเขียนโน้ตก็จะไม่เขียนออกมาให้เป็นครึ่งเสียง เวลาเทียบเสียงก็จะไม่เทียบให้เป็นครึ่งเสียงเด็ดขาด โดยเฉพาะเครื่องตี ท่านรับสั่งกับครูเอื้อว่า ดนตรีของเราเป็นเอกลักษณ์ ท่านคงเป็นห่วงเรื่องเสียงดนตรีไทยที่เอาไปผสมผสานกับดนตรีตะวันตก หรือดนตรีอื่นๆ อันนี้เป็นเรื่องน่าเป็นห่วงนะ เพราะคนไทยมีการอ่อนโอนตามสิ่งที่เราจะเข้าไปผสมผสานด้วย แล้วยอมเสียเอกลักษณ์ของเรา อย่างเรื่องภาษาเราก็เสียเสียงไปเยอะแล้ว เสียทั้งพยัญชนะ ทั้งสระ ทั้งวรรณยุกต์ไป ที่จริงดนตรีตะวันตกมีบันไดเสียงตั้งเยอะแยะที่จะมาเล่นกับเครื่องดนตรีไทยได้ แต่เราไม่ค่อยทำเราจะพยายามเอาระนาด เอาซอ ไปเทียบให้เข้ากับบันไดเสียงของเขา เช่นโด เราก็กลายเป็นโดบีแฟลต ให้มันมีครึ่งเสียง ทีนี้พอเราเอากลับมาเล่นเป็นดนตรีไทย ไม่ผสมกับเครื่องดนตรีสากล ไม่มีการเรียบเรียงเสียงประสาน เราก็จะฟังเสียงเครื่องดนตรีอย่างระนาดไทยเหมือนระนาดญี่ปุ่น เหมือนเล่นเพลงญี่ปุ่นได้เลย เอกลักษณ์ทางเสียงก็จะเสียไป ท่านเป็นห่วงนะ แล้วคนไทยก็ทำกันเยอะ

เรียกได้ว่าในหลวงทรงเป็นพ่อของวงการดนตรีของไทย ท่านเก่งจริง เก่งมาก พวกนักดนตรีแจ๊สยังบอกว่าเพลงของท่านยากนะ สลับซับซ้อน ไม่ใช่ว่าเห็นโน้ตแล้วเล่นได้เลย ท่านแต่งอย่างคนมีความรู้จริงๆ การที่ท่านทรงดนตรี ประพันธ์เพลง ก็ทำให้คนไทยหันมาสนใจดนตรีสากลกันมากขึ้น ตอนท่านนำคุณทองแดงมาเลี้ยงก็เหมือนกัน คนไทยก็หันมาเลี้ยงสุนัขไทยกันเยอะแยะ ท่านเป็นครูของแผ่นดินในหลายๆ ด้าน ด้านดนตรีท่านเป็นต้นแบบในแง่ที่ว่าเรียนอะไรก็ควรเรียนให้รู้ซึ้ง รู้จริง แจ๊สนี่ไม่ใช่ง่ายนะ เป็นสุดยอดของดนตรีประเภทหนึ่ง มีนักดนตรีรุ่นๆ เดียวกับท่านเล่าให้ผมฟังว่า ท่านเป่าแซ็กได้นานมาก ที่วังไกลกังวลท่านซ้อมตั้งแต่บ่ายจนข้ามไปอีกวันหนึ่งเป็นเวลาที่ทรงสำราญ ทรงพักผ่อน ซึ่งท่านก็จะเชิญนักดนตรีมาร่วมเล่นกัน แล้วท่านเป็นเจ้าภาพท่านก็หาน้ำท่ามาเสิร์ฟอย่างเป็นกันเอง เรื่องดนตรีนี่การฝึกซ้อมสำคัญมาก เอาจากที่ครูสอนอย่างเดียวไม่พอ ต้องมาฝึกเองเราถึงชำนาญ แล้วก็อาจจะได้อะไรแตกฉานขึ้นมา

เหรียญสังคีตมงคลนี่ ได้จากตอนที่เขาจัดงานดนตรี เหมือนวันดนตรี นักดนตรีสากลพวกสุนทราภรณ์ รุ่นครูเอื้อ จะมาเล่นมาร้องดนตรีถวาย ทั้งแจ๊ส คลาสสิก ในหลวงก็จะพระราชทานเหรียญนี้ด้วยพระหัตถ์เลย ที่เวทีสวนอัมพร เป็นเหรียญพระราชทานที่ทำจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ห้อยคอได้ ผมมีสองเหรียญได้จากคนที่แต่งเพลงให้กับครูเอื้อ เป็นลูกศิษย์ครูเอื้อ ท่านถอดจากสร้อยคอให้เลย แต่อีกอันผมไปเจอที่ตลาดพระ ผมรู้จักเหรียญนั้นก็รีบคว้าเลย ผมบอกทุกคนเลยว่าใครเจอให้เก็บไว้เพราะคงไม่มีอีกแล้ว

พระเจ้าอยู่หัวท่านทรงงานตลอด ไม่ว่าจะหยิบจับอะไรก็ทำให้ราษฎรอบอุ่น ทั้งเรื่องดิน เรื่องน้ำ เรื่องป่า เรื่องต้นไม้ เรื่องชีวิตความเป็นอยู่ แม้กระทั่งเรื่องอาหารการกินท่านก็เป็นตัวอย่างที่ดี คนใกล้ชิดจะบอกเสมอว่าพระองค์ท่านเสวยอาหารง่ายๆ สมกับที่ท่านใช้คำว่าเศรษฐกิจพอเพียง





ขอขอบคุณ ที่มาhttp://www.bloggang.com/mainblog.php?id=prisanasweetsong&month=01-12-2009&group=2&gblog=20
                    :http://www.mylifewithhismajestytheking.com/readerpage.cfm?Openid=F3D76AAE-06B0-4377-B049-49E49F22340A

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น